การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“...สิ่งแวดล้อมเป็นคำที่มี ความหมายกว้างมาก คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต
มีความหมายทั้งในด้านที่เป็นรูปธรรม เช่น ดิน นํ้า อากาศ สัตว์ พืช และเป็นนามธรรม เช่น
สภาพความสัมพันธ์อันดี ความเป็นมิตร หรือเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็คือ การประหัตประหารกัน
สิ่งแวดล้อม ทุกประเภท มีผลต่อการเกื้อกูลกัน...”
(จากหนังสือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่องประสบการณ์การพัฒนาชนบทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
“..ต้องพยายามอนุรักษ์สมดุลธรรมชาติด้วยการดูแลรักษา มิให้ทรัพยากรธรรมชาติหมดสิ้นไป...”
(จากหนังสือ เสริมสร้างโภชนาการที่ดี : พื้นฐานของการพัฒนา ๓๐ ปี พระราชกรณียกิจการพัฒนา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ทรงเห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งและมีพระราชปณิธานที่จะเร่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คืนกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว
แนวทางพระราชดำริ คือ
ให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ด้วยทรงเล็งเห็นว่าเด็กและเยาวชนเหล่านี้
จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในอนาคตให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การรักษาและใช้ทรัพยากรของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นการรักษาสมบัติของตนเองไว้จึงมีพระราชดำริให้มีโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น
โดยในขั้นแรกมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกแก่เด็กและเยาวชนให้เห็นคุณค่าทรัพยากรธรรมชาติ
เกิดความรัก หวงแหน ร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อมด้วยตัวของเขาเอง ดังที่ทรงบรรยายในโอกาสต่างๆ ว่า
“...สิ่งแวดล้อมนี้สำคัญ ถ้าเราทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดหรือแหล่งที่เราพบพืชพันธุ์ธรรมชาติเหล่านี้ ถ้าทำลายป่า ทำลายนํ้าหมดไป แล้วเราจะเอาอะไรกินกัน...”
(จากหนังสือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่องประสบการณ์การพัฒนาชนบทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
|
เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบำรุงที่ ๑๐๗ บ้านห้วยจะค่าน ตำบลปิ้งโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ทรงพบว่าเพียงปีเดียว สภาพพื้นที่เปลี่ยนไป ป่าไม้ถูกทำลายลงไปมาก จึงมีรับสั่งให้ช่วยกันดูแลอนุรักษ์ป่าไม้ไม่ให้ถูกทำลาย และให้ดำเนินการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแก่เด็กและเยาวชนในโครงการฯ และเริ่มให้โรงเรียนปลูกสะเดาเพื่ออาศัยร่มเงา ยอดสะเดาใช้ประกอบอาหาร เมล็ดสะเดาใช้เป็นสารป้องกันกำจัดแมลงบางชนิดในแปลงผัก การปลูกสะเดาจึงแพร่ขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆ ด้วย
“...ตั้งใจที่จะปลูกฝังให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพัฒนาลักษณะนิสัยในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ หลายอย่างเดินตามแนวพระราชดำริ
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...”
(จากหนังสือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงบรรยายเรื่องประสบการณ์การพัฒนาชนบทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริที่จะสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็กและเยาวชน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่น มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมกันไปด้วย
การส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ มีพระราชดำริให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจัดการเรียนการสอนด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียนของโครงการฯ เริ่มตั้งแต่การทำหลักสูตร การฝึกอบรมครูผู้สอน การจัดหาสื่อการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจ รู้คุณค่าทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เช่น ป่าไม้ถูกทำลาย พิษภัยของควันไฟ จากการเผาป่า การเรียนรู้ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชายเลน เช่น ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนํ้าแดง จังหวัดจันทบุรี เรียนรู้ประโยชน์ของหญ้าแฝกในการช่วยอนุรักษ์ดินและนํ้า การอนุรักษ์ความหลากหลายพันธุกรรมพืช เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังทรงให้มีการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่ประชาชนให้ตระหนักและมีจิตสำนึกร่วมกัน และช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในถิ่นของตน
|
“...พยายามชี้แจงให้เห็นถึงข้อนี้ว่า ถ้าทำลายต้นไม้หรือว่าเผาเลย
สิ่งที่ได้ไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไปพยายามให้นักเรียนศึกษาดูซิว่า
สิ่งแวดล้อมเหล่านี้แต่ละชนิด ต้นไม้แต่ละอย่างมีคุณสมบัติอย่างไรใครเรียนรู้ ยิ่งเรียนรู้มาก ก็ยิ่งจะรักสิ่งเหล่านี้
เพราะเรื่องสำคัญที่จะต้องรักษาไว้ นี่เป็นสมบัติของตัวเราเอง เป็นสมบัติของชุมชนไม่ใช่ของคนอื่น...”
พระราชดำรัสวันอังคารที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๓
(จากหนังสือ ประมวลพระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร พุทธศักราช ๒๕๒๔-๒๕๕๓)
“...การรักษาทรัพยากร คือ รักชาติ รักแผ่นดิน หมายถึง รักสิ่งที่เป็นของตัวเขา การให้เขารักษา
ประเทศชาติ หรือรักษาสมบัติของเขานั้น ทำได้โดยการสร้างความรัก ความเข้าใจ ให้รู้จักว่าสิ่งนั้นคือ
อะไร เขาจะรู้สึกชื่นชมและหวงแหนในสิ่งนั้นว่าเป็นของตน และทำให้เกิดประโยชน์...”
|
“...โรงเรียนบางแห่งก็ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดารแต่ยังมีพืชพรรณต่างๆ ขึ้นอยู่ที่คนอื่นๆ นอกพื้นที่
จะเข้าไปศึกษาได้ยาก ทั้งผู้เรียนและผู้ปกครองก็อาจมีความรู้นั้นมากกว่าคนอื่นๆ ผู้เรียนก็อาจจะเรียน
จากผู้ปกครองของนักเรียน เป็นเรื่องของภูมิประเทศท้องถิ่นว่าพืชชนิดนี้คืออะไร...”
(จากเอกสารคู่มือการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน)
|
จากพระราชดำริฯ เด็กและเยาวชนตลอดจนประชาชนในท้องถิ่นได้ศึกษาเรียนรู้เห็นประโยชน์ และคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผลกระทบจากการทำลายสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ฯ ตามพระราชปณิธาน
การส่งเสริมกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทำกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชน และลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เช่น การพัฒนารักษาป่าชุมชน ป่าใกล้โรงเรียน ป่าพื้นที่ต้นนํ้า ป่าพื้นที่ชุ่มนํ้า และการปลูกป่า การทำสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน การปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและนํ้า การสร้างฝายชะลอนํ้า เป็นต้น สำหรับการปลูกป่าทรงอธิบายถึงการปลูกป่า ๓ อย่าง และประโยชน์ ๔ อย่าง ตามแนวพระราชดำริของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า
|
“...การปลูกป่าจำเป็นต้องผสมผสานความต้องการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้
ควบคู่ไปกับความต้องการด้านเศรษฐกิจ สังคม และการใช้ทรัพยากรของชุมชน ป่า ๓ อย่าง ได้แก่
ป่าไม้ใช้สอย อาทิ ไม้ไผ่ ไม้โตเร็วอย่างสะเดา เป็นต้น ป่าไม้กินได้ ได้แก่ ไม้ผลและผักกินใบหรือกินหัว
ชนิดต่างๆ และป่าไม้เศรษฐกิจ คือ ไม้ที่ปลูกไว้ขายเนื้อไม้ เช่น ไม้สัก เป็นต้น ประโยชน์จากป่า ๔ อย่าง
คือ นอกจากจะเป็นไม้ไว้ใช้สอยแล้ว ยังเป็นอาหาร เป็นแหล่งรายได้ทางเศรษฐกิจ และยังช่วยอนุรักษ์ดิน
และนํ้าด้วย การใช้หญ้าแฝกอย่างที่กล่าวแล้วยังไม่พอต้องปลูกพืชธรรมชาติ ซึ่งมีรากที่จะยึดดินได้...”
(จากหนังสือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงบรรยายเรื่องประสบการณ์การพัฒนาชนบทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงอธิบายถึงกิจกรรมสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนไว้ ดังนี้
“...ปัจจุบันข้าพเจ้าจึงจัดให้มีโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนทั้งในโรงเรียนประถมและ
มัธยม ให้เด็กนักเรียน ครู และผู้ปกครองไปสำรวจหาพืชพื้นเมืองมาปลูกในโรงเรียน ศึกษาตามหลัก
วิทยาศาสตร์ ทำหอพรรณไม้ในโรงเรียน ที่จริงเพื่อเน้นว่าพืชในท้องถิ่นมีอะไรรับประทานได้ พืชพวกนั้น
มีชื่อทางพฤกษศาสตร์อย่างไร และเอาไปวิเคราะห์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลว่ามีคุณค่าทางโภชนาการอย่างไร...”
(จากหนังสือ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน)
“...สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนที่กล่าวมาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
เป็นโครงการที่ทำมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอนุรักษ์ต้นไม้ คือ ยางนา บางทีผ่านไป
ผ่านมาแต่ละปีมีคนตัดไปเรื่อย ก็ค่อนข้างจะหมดไป เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเห็นความสำคัญของ
พืชว่า พืชในเมืองไทยมีพันธุกรรม ถ้าทำลายไปหมด พันธุกรรมพืชก็จะหายไปอย่างน่าเสียดาย
บางทีจะทำอ่างเก็บนํ้า จะตัดถนนที่ต้องตัดต้นไม้ ก็ต้องพยายามเก็บพันธุกรรมพืชในรูปแบบต่างๆ
พยายามเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพื่อที่จะไปปลูกที่อื่นได้หรือย้ายไป ต้องปกปักพันธุกรรมพืชในพื้นที่ป่าธรรมชาติ
รวบรวมพืชที่มีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์มาเก็บไว้แล้วนำมาเพาะปลูกและรักษาในพื้นที่ที่เหมาะสมทางกายภาพ
และปลอดภัยจากการรุกรานรวมทั้งสอนการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์พืช ตั้งศูนย์พันธุกรรมพืช
วางแผนพันธุกรรมพืช สร้างจิตสำนึกในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน...”
ทรงบรรยายเรื่องประสบการณ์การพัฒนาชนบทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
จากการส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้ทำกิจกรรมอันเป็นประสบการณ์ตรงมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับสมบัติของตนเอง ก่อให้เกิดความรัก หวงแหน ความสามัคคี มีอุปนิสัยการอนุรักษ์ฯ ช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป
การส่งเสริมการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ประชาชนส่วนใหญ่ในถิ่นทุรกันดาร มีอาชีพเกษตรกรรม มีการบุกรุกทำลายป่าเพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตร ทำให้ผิวดินถูกชะล้างพังทลาย ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี และต้องใช้สารเคมีอันตรายกำจัดศัตรูพืช ซึ่งกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ มีพระราชดำริที่จะลดปัญหาเหล่านี้ โดยเริ่มต้นให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้วิธีการทำการเกษตรและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมิให้เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นที่โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันของโรงเรียนด้วยการใช้อินทรียวัตถุ ปรับปรุง บำรุงดิน ลดการใช้สารเคมีการเกษตร ใช้ตัวหํ้าตัวเบียนและเชื้อราที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ มาช่วยกำจัดศัตรูพืช ใช้ถุงสีเหลืองทากาวเหนียวดักแมลง ปลูกผักกางมุ้ง ใช้วัสดุธรรมชาติแทนสารเคมีสังเคราะห์ เช่น การใช้วัสดุธรรมชาติย้อมผ้า ใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรป้องกันและรักษาโรค การนำมูลสัตว์มาผลิตก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทน ฯลฯ
| |
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงให้คำนึงถึงลักษณะธรรมชาติและวิธีการทำการเกษตร ในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม ดังพระราชดำรัสบางตอนว่า
“...รู้จักการปลูกพืชหมุนเวียน ไม่ใช่ว่าปลูกพืชอะไรปลูกซํ้าๆ
จะทำให้ดินจืด และก็ไม่สามารถที่จะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
บางทีถ้าดินจืดแล้วการใช้ปุ๋ยธรรมชาติ
ไม่ใช้สารเคมีเติมบางครั้งก็เป็นไปไม่ได้เลย...”
(จากหนังสือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงบรรยายเรื่องประสบการณ์การพัฒนาชนบทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
จากการที่เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทำให้ประชาชนทั่วไปในท้องถิ่นสนใจหันมาทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ข้อมูลจาก หนังสือ สืบสานพระราชปณิธาน สามทศวรรษจรัสหล้า การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร