การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคตของเด็กและเยาวชน เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาควรจะมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า และช่วยกันรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามเอาไว้ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความมั่นคง
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“...สิ่งแวดล้อมเป็นคำที่มี ความหมายกว้างมาก คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต
มีความหมายทั้งในด้านที่เป็นรูปธรรม เช่น ดิน นํ้า อากาศ สัตว์ พืช และเป็นนามธรรม เช่น
สภาพความสัมพันธ์อันดี ความเป็นมิตร หรือเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็คือ การประหัตประหารกัน
สิ่งแวดล้อม ทุกประเภท มีผลต่อการเกื้อกูลกัน...”
(จากหนังสือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่องประสบการณ์การพัฒนาชนบทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
“..ต้องพยายามอนุรักษ์สมดุลธรรมชาติด้วยการดูแลรักษา มิให้ทรัพยากรธรรมชาติหมดสิ้นไป...”
(จากหนังสือ เสริมสร้างโภชนาการที่ดี : พื้นฐานของการพัฒนา ๓๐ ปี พระราชกรณียกิจการพัฒนา
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ทรงเห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งและมีพระราชปณิธานที่จะเร่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คืนกลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว
แนวทางพระราชดำริ คือ
ให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ด้วยทรงเล็งเห็นว่าเด็กและเยาวชนเหล่านี้
จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในอนาคตให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การรักษาและใช้ทรัพยากรของชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นการรักษาสมบัติของตนเองไว้จึงมีพระราชดำริให้มีโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น
โดยในขั้นแรกมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกแก่เด็กและเยาวชนให้เห็นคุณค่าทรัพยากรธรรมชาติ
เกิดความรัก หวงแหน ร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อมด้วยตัวของเขาเอง ดังที่ทรงบรรยายในโอกาสต่างๆ ว่า
“...ในโรงเรียนที่ไปปฏิบัติการนั้นก็มีหลายคนที่ผู้ปกครอง
หรือบิดา มารดา มีความจำเป็นต้องเผาป่าต้องทำลายสิ่งแวดล้อม
จึงเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องคิดหาวิธีการที่จะช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษาความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม...”
“...สิ่งแวดล้อมนี้สำคัญ
ถ้าเราทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดหรือแหล่งที่เราพบพืชพันธุ์ธรรมชาติเหล่านี้ ถ้าทำลายป่า ทำลายนํ้าหมดไป
แล้วเราจะเอาอะไรกินกัน...”
(จากหนังสือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่องประสบการณ์การพัฒนาชนบทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบำรุงที่ ๑๐๗ บ้านห้วยจะค่าน ตำบลปิ้งโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ทรงพบว่าเพียงปีเดียว สภาพพื้นที่เปลี่ยนไป ป่าไม้ถูกทำลายลงไปมาก จึงมีรับสั่งให้ช่วยกันดูแลอนุรักษ์ป่าไม้ไม่ให้ถูกทำลาย และให้ดำเนินการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแก่เด็กและเยาวชนในโครงการฯ และเริ่มให้โรงเรียนปลูกสะเดาเพื่ออาศัยร่มเงา ยอดสะเดาใช้ประกอบอาหาร เมล็ดสะเดาใช้เป็นสารป้องกันกำจัดแมลงบางชนิดในแปลงผัก การปลูกสะเดาจึงแพร่ขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆ ด้วย
“...ตั้งใจที่จะปลูกฝังให้เด็กมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพัฒนาลักษณะนิสัยในการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ หลายอย่างเดินตามแนวพระราชดำริ
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...”
(จากหนังสือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงบรรยายเรื่องประสบการณ์การพัฒนาชนบทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริที่จะสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็กและเยาวชน ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่น มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมกันไปด้วย
การส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ มีพระราชดำริให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจัดการเรียนการสอนด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียนของโครงการฯ เริ่มตั้งแต่การทำหลักสูตร การฝึกอบรมครูผู้สอน การจัดหาสื่อการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจ รู้คุณค่าทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เช่น ป่าไม้ถูกทำลาย พิษภัยของควันไฟ จากการเผาป่า การเรียนรู้ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการป่าชายเลน เช่น ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนํ้าแดง จังหวัดจันทบุรี เรียนรู้ประโยชน์ของหญ้าแฝกในการช่วยอนุรักษ์ดินและนํ้า การอนุรักษ์ความหลากหลายพันธุกรรมพืช เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังทรงให้มีการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่ประชาชนให้ตระหนักและมีจิตสำนึกร่วมกัน และช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในถิ่นของตน
“...พยายามชี้แจงให้เห็นถึงข้อนี้ว่า ถ้าทำลายต้นไม้หรือว่าเผาเลย
สิ่งที่ได้ไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไปพยายามให้นักเรียนศึกษาดูซิว่า
สิ่งแวดล้อมเหล่านี้แต่ละชนิด ต้นไม้แต่ละอย่างมีคุณสมบัติอย่างไรใครเรียนรู้ ยิ่งเรียนรู้มาก ก็ยิ่งจะรักสิ่งเหล่านี้
เพราะเรื่องสำคัญที่จะต้องรักษาไว้ นี่เป็นสมบัติของตัวเราเอง เป็นสมบัติของชุมชนไม่ใช่ของคนอื่น...”
พระราชดำรัสวันอังคารที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๓
(จากหนังสือ ประมวลพระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร พุทธศักราช ๒๕๒๔-๒๕๕๓)
“...การรักษาทรัพยากร คือ รักชาติ รักแผ่นดิน หมายถึง รักสิ่งที่เป็นของตัวเขา การให้เขารักษา
ประเทศชาติ หรือรักษาสมบัติของเขานั้น ทำได้โดยการสร้างความรัก ความเข้าใจ ให้รู้จักว่าสิ่งนั้นคือ
อะไร เขาจะรู้สึกชื่นชมและหวงแหนในสิ่งนั้นว่าเป็นของตน และทำให้เกิดประโยชน์...”
“...โรงเรียนบางแห่งก็ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดารแต่ยังมีพืชพรรณต่างๆ ขึ้นอยู่ที่คนอื่นๆ นอกพื้นที่
จะเข้าไปศึกษาได้ยาก ทั้งผู้เรียนและผู้ปกครองก็อาจมีความรู้นั้นมากกว่าคนอื่นๆ ผู้เรียนก็อาจจะเรียน
จากผู้ปกครองของนักเรียน เป็นเรื่องของภูมิประเทศท้องถิ่นว่าพืชชนิดนี้คืออะไร...”
(จากเอกสารคู่มือการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน)
จากพระราชดำริฯ เด็กและเยาวชนตลอดจนประชาชนในท้องถิ่นได้ศึกษาเรียนรู้เห็นประโยชน์ และคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนผลกระทบจากการทำลายสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ฯ ตามพระราชปณิธาน
การส่งเสริมกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทำกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชน และลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เช่น การพัฒนารักษาป่าชุมชน ป่าใกล้โรงเรียน ป่าพื้นที่ต้นนํ้า ป่าพื้นที่ชุ่มนํ้า และการปลูกป่า การทำสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน การปลูกหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและนํ้า การสร้างฝายชะลอนํ้า เป็นต้น สำหรับการปลูกป่าทรงอธิบายถึงการปลูกป่า ๓ อย่าง และประโยชน์ ๔ อย่าง ตามแนวพระราชดำริของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า
“...การปลูกป่าจำเป็นต้องผสมผสานความต้องการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้
ควบคู่ไปกับความต้องการด้านเศรษฐกิจ สังคม และการใช้ทรัพยากรของชุมชน ป่า ๓ อย่าง ได้แก่
ป่าไม้ใช้สอย อาทิ ไม้ไผ่ ไม้โตเร็วอย่างสะเดา เป็นต้น ป่าไม้กินได้ ได้แก่ ไม้ผลและผักกินใบหรือกินหัว
ชนิดต่างๆ และป่าไม้เศรษฐกิจ คือ ไม้ที่ปลูกไว้ขายเนื้อไม้ เช่น ไม้สัก เป็นต้น ประโยชน์จากป่า ๔ อย่าง
คือ นอกจากจะเป็นไม้ไว้ใช้สอยแล้ว ยังเป็นอาหาร เป็นแหล่งรายได้ทางเศรษฐกิจ และยังช่วยอนุรักษ์ดิน
และนํ้าด้วย การใช้หญ้าแฝกอย่างที่กล่าวแล้วยังไม่พอต้องปลูกพืชธรรมชาติ ซึ่งมีรากที่จะยึดดินได้...”
(จากหนังสือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงบรรยายเรื่องประสบการณ์การพัฒนาชนบทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงอธิบายถึงกิจกรรมสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนไว้ ดังนี้
“...ปัจจุบันข้าพเจ้าจึงจัดให้มีโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนทั้งในโรงเรียนประถมและ
มัธยม ให้เด็กนักเรียน ครู และผู้ปกครองไปสำรวจหาพืชพื้นเมืองมาปลูกในโรงเรียน ศึกษาตามหลัก
วิทยาศาสตร์ ทำหอพรรณไม้ในโรงเรียน ที่จริงเพื่อเน้นว่าพืชในท้องถิ่นมีอะไรรับประทานได้ พืชพวกนั้น
มีชื่อทางพฤกษศาสตร์อย่างไร และเอาไปวิเคราะห์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลว่ามีคุณค่าทางโภชนาการอย่างไร...”
(จากหนังสือ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน)
“...สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนที่กล่าวมาข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช
เป็นโครงการที่ทำมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอนุรักษ์ต้นไม้ คือ ยางนา บางทีผ่านไป
ผ่านมาแต่ละปีมีคนตัดไปเรื่อย ก็ค่อนข้างจะหมดไป เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเห็นความสำคัญของ
พืชว่า พืชในเมืองไทยมีพันธุกรรม ถ้าทำลายไปหมด พันธุกรรมพืชก็จะหายไปอย่างน่าเสียดาย
บางทีจะทำอ่างเก็บนํ้า จะตัดถนนที่ต้องตัดต้นไม้ ก็ต้องพยายามเก็บพันธุกรรมพืชในรูปแบบต่างๆ
พยายามเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพื่อที่จะไปปลูกที่อื่นได้หรือย้ายไป ต้องปกปักพันธุกรรมพืชในพื้นที่ป่าธรรมชาติ
รวบรวมพืชที่มีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์มาเก็บไว้แล้วนำมาเพาะปลูกและรักษาในพื้นที่ที่เหมาะสมทางกายภาพ
และปลอดภัยจากการรุกรานรวมทั้งสอนการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์พืช ตั้งศูนย์พันธุกรรมพืช
วางแผนพันธุกรรมพืช สร้างจิตสำนึกในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน...”
(จากหนังสือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงบรรยายเรื่องประสบการณ์การพัฒนาชนบทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
จากการส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้ทำกิจกรรมอันเป็นประสบการณ์ตรงมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับสมบัติของตนเอง ก่อให้เกิดความรัก หวงแหน ความสามัคคี มีอุปนิสัยการอนุรักษ์ฯ ช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป
การส่งเสริมการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ประชาชนส่วนใหญ่ในถิ่นทุรกันดาร มีอาชีพเกษตรกรรม มีการบุกรุกทำลายป่าเพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตร ทำให้ผิวดินถูกชะล้างพังทลาย ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี และต้องใช้สารเคมีอันตรายกำจัดศัตรูพืช ซึ่งกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ มีพระราชดำริที่จะลดปัญหาเหล่านี้ โดยเริ่มต้นให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้วิธีการทำการเกษตรและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมิให้เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นที่โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันของโรงเรียนด้วยการใช้อินทรียวัตถุ ปรับปรุง บำรุงดิน ลดการใช้สารเคมีการเกษตร ใช้ตัวหํ้าตัวเบียนและเชื้อราที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ มาช่วยกำจัดศัตรูพืช ใช้ถุงสีเหลืองทากาวเหนียวดักแมลง ปลูกผักกางมุ้ง ใช้วัสดุธรรมชาติแทนสารเคมีสังเคราะห์ เช่น การใช้วัสดุธรรมชาติย้อมผ้า ใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรป้องกันและรักษาโรค การนำมูลสัตว์มาผลิตก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทน ฯลฯ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงให้คำนึงถึงลักษณะธรรมชาติและวิธีการทำการเกษตร ในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม ดังพระราชดำรัสบางตอนว่า
“...รู้จักการปลูกพืชหมุนเวียน ไม่ใช่ว่าปลูกพืชอะไรปลูกซํ้าๆ
จะทำให้ดินจืด และก็ไม่สามารถที่จะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
บางทีถ้าดินจืดแล้วการใช้ปุ๋ยธรรมชาติ
ไม่ใช้สารเคมีเติมบางครั้งก็เป็นไปไม่ได้เลย...”
(จากหนังสือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงบรรยายเรื่องประสบการณ์การพัฒนาชนบทที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม)
จากการที่เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทำให้ประชาชนทั่วไปในท้องถิ่นสนใจหันมาทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ข้อมูลจาก หนังสือ สืบสานพระราชปณิธาน สามทศวรรษจรัสหล้า การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร